บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สิ่งศักดิ์สิทธิ์คืออะไร


คำว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์พจนานุกรมฉบับล่าสุดให้ความหมายว่า

น. สิ่งหรือภาวะที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถบันดาลให้เป็นไป หรือให้สำเร็จได้ดังปรารถนา เช่น ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้เขาหายจากโรคร้าย

ความหมายที่ว่านี้เป็นความหมายของคำนาม

ในกรณีที่เป็นคำวิเศษณ์ พจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ ให้ความหมายว่า

ที่เชื่อถือว่ามีอำนาจ อาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์, ขลัง, เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์.

เมินรัตน์  นวะบุศย์ (2544) ได้ทำวิจัยเรื่อง ทัศนะของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมาเกี่ยวกับสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์และชีวิตหลังความตายให้ความหมายของคำว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หมายถึง

พลังอำนาจเหนือสัมผัสที่เชื่อกันว่า สามารถให้คุณให้โทษต่อผู้เชื่อถือ

กชภร  ตุลารักษ์ (2546) ทำวิจัยในระดับปริญญาโทเรื่อง  ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับการค้าขายอาหารในมหาวิทยาลัยรามคำแหง”  ให้ความหมายของคำว่า ศักดิ์สิทธิ์หมายถึง

สิ่งที่เชื่อถือว่ามีอำนาจ อาจบันดาลให้สำเร็จดังประสงค์ ขลัง, เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์.

ในการทำวิจัย เมินรัตน์  นวะบุศย์ (2544) ได้กำหนดสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวน 20 รายการ โดยเลือกจากคำสอนทางศาสนา และความคิดความเชื่อของคนไทยทั่วไป และผลจากการวิจัยนักศึกษากลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เรียงลำดับไปดังนี้

    1) พระรัตนตรัย
    2) พระพุทธรูปสำคัญต่างๆ เช่น พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร ฯลฯ
    3) พระพุทธรูปหรือรูปเคารพอื่นในบ้าน
    4) พระเครื่อง
    5) พระโพธิสัตว์กวนอิม (เจ้าแม่กวนอิม)
    6) เทพเจ้าต่างๆ เช่น พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนศวร พระยายม ฯลฯ
    7) พระสยามเทวาธิราช
    8) เจ้าพ่อหลักเมือง (ศาลหลักเมือง)
    9) พระภูมิเจ้าที่
    10) ผีบ้านผีเรือน
    11) รุกขเทวดา นางไม้
    12) เจ้าป่าเจ้าเขา
    13) ไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา เสน่ห์ยาแฝด
    14) เครื่องรางของขลัง
    15) บุญบารมีของตนเองที่สร้างสมไว้
    16) พระวิญญาณในหลวงรัชกาลที่ 5
    17) วิญญาณท้าวสุรนารี (ย่าโม)
    18) วิญญาณบรรพบุรุษของตนเอง ของท้องถิ่น
    19) วิญญาณพระภิกษุที่สำคัญ ที่มีญาณบารมี เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่แหวน หลวงพ่อพุธ ฯลฯ
    20) พระภิกษุที่สำคัญที่มีญาณบารมี ที่ยังมีชีวิต เช่น หลวงพ่อคูณ หลวงพ่อดี ฯลฯ

ในประเทศไทยของเรานี้  ประชาชนคนไทยไม่ได้นับถือแต่เพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น ยังนับถือผี และศาสนาพราหมณ์เข้าไปด้วย

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า ความเชื่อของคนไทยนั้น มี 3 ประการ คือ พุทธ - ผี - พราหมณ์

สำหรับผู้เขียนแล้ว เห็นว่า ไสยศาสตร์เป็นอีกส่วนหนึ่งหรือประเภทหนึ่งที่คนไทยนับถืออยู่ และไม่เข้ากับ 3 กลุ่มข้างต้น

ดังนั้น  ถ้าเราต้องการจะจัดประเภทของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากงานวิจัยของเมินรัตน์  นวะบุศย์ (2544)  นั้น  ผู้เขียนเห็นว่าควรแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

ศาสนาพุทธ
    1) พระรัตนตรัย
    2) พระพุทธรูปสำคัญต่างๆ เช่น พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร ฯลฯ
    3) พระพุทธรูปหรือรูปเคารพอื่นในบ้าน
    4) พระเครื่อง
    5) พระโพธิสัตว์กวนอิม (เจ้าแม่กวนอิม) [เป็นพระโพธิสัตว์ของมหายาน]
    6) พระสยามเทวาธิราช
    7) รุกขเทวดา นางไม้
    8) บุญบารมีของตนเองที่สร้างสมไว้
    9) พระภิกษุที่สำคัญที่มีญาณบารมี ที่ยังมีชีวิต เช่น หลวงพ่อคูณ หลวงพ่อดี ฯลฯ

ศาสนาพราหมณ์
    1) เทพเจ้าต่างๆ เช่น พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนศวร พระยายม ฯลฯ
    2) เจ้าพ่อหลักเมือง (ศาลหลักเมือง)
    3) พระภูมิเจ้าที่

ผี
    1) ผีบ้านผีเรือน
    2) เจ้าป่าเจ้าเขา
    3) พระวิญญาณในหลวงรัชกาลที่ 5
    4) วิญญาณท้าวสุรนารี (ย่าโม)
    5) วิญญาณบรรพบุรุษของตนเอง ของท้องถิ่น
    6) วิญญาณพระภิกษุที่สำคัญ ที่มีญาณบารมี เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่แหวน หลวงพ่อพุธ ฯลฯ

ไสยศาสตร์
    1) ไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา เสน่ห์ยาแฝด
    2) เครื่องรางของขลัง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น  ตามหลักการของวิชาธรรมกายนั้น ยืนยันได้ว่า มีฤทธิ์ และให้คุณ ให้โทษกับมนุษย์ได้

ในทางปฏิบัติแล้ว  ถ้ามนุษย์บำเพ็ญบารมีมาดี ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักการของพระศาสนาแล้ว  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณ ก็จะให้คุณได้

ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้โทษ จะให้ไม่ได้  เนื่องจากบุญบารมีของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น สามารถคุ้มครองตัวเองได้

วิชาธรรมกายสอนว่า ธาตุธรรมมี 3 ฝ่ายคือ กุศลาธรรมา/ฝ่ายดี/ฝ่ายพระ  อกุศลาธรรมา/ฝ่ายชั่ว/ฝ่ายมาร  และอัพยากตาธรรมา/ฝ่ายไม่ดีไม่ชั่ว/ฝ่ายกลาง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 20 รายการนั้น ก็สามารถจัดลงเป็น 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายพระกับฝ่ายมารได้  แต่การจัดกลุ่มตามหลักวิชชาธรรมกายนั้น สลับซับซ้อนมาก  ผมจึงจะค่อยๆ อธิบายในบันทึกต่อๆ ไป

อย่างไรก็ดีขอยกตัวอย่างบ้างดังนี้

ในเรื่องของเครื่องรางของขลังนั้น  มีทั้งฝ่ายพระกับฝ่ายมาร  คดต่างๆ รัตนะชาติที่ไม่ใช่สีดำ เป็นฝ่ายพระ  ส่วนเหล็กไหล นิลนั้นเป็นฝ่ายของมาร

เครื่องรางของขลังมีความศักดิ์สิทธิ์ให้คุณให้โทษได้ คนไทยรู้มานานแล้ว และใช้คำศัพท์ว่า ทนสิทธิ์ซึ่งหมายความมีอิทธิปาฏิหาริย์อยู่ในตัวของเครื่องรางของขลังเหล่านั้น  แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมเครื่องรางของขลังจึงมีความศักดิ์สิทธิ์

บันทึกชุดนี้ จะอธิบายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งต่างๆ นั้น อย่างละเอียด เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านแล้ว จะได้ ทั้งรู้และเข้าใจ



1 ความคิดเห็น: